ความรู้เกี่ยวกับเครื่องปั้ม

ทำไมปั๊มนมไม่ออก  
การปั๊มนมเป็น ทักษะที่ต้องอาศัยการเรียนรู้และฝึกฝน ไม่ต่างกับการหัดขับรถหรือทำกับข้าว ในครั้งแรกของการปั๊ม คุณแม่อาจจะได้น้ำนมแค่ติดก้นขวด  เมื่อปั๊มบ่อยๆ ทุกวัน จะสามารถเรียนรู้กลไกการหลั่งน้ำนม (Let Down Reflex) ของตนเอง  และจะปั๊มได้ง่ายและมีปริมาณมากขึ้นในที่สุด    

ควรจะปั๊มนมได้ครั้งละกี่ออนซ์  
การปั๊มนมได้กี่ออนซ์นั้นไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่า คุณแม่มีนมพอสำหรับลูกหรือไม่  เนื่องจากปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง  เช่น เพิ่งจะเริ่มปั๊ม หรือปั๊มมานานแล้ว  อายุของลูก ระยะเวลาในการปั๊ม  คุณภาพของเครื่องปั๊มนมที่ใช้อยู่  จำนวนครั้งของการปั๊มในแต่ละวัน  ระยะเวลาที่เริ่มปั๊มครั้งแรกนับจากลูกเกิด ฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลกับปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ในแต่ละคน  ไม่ควรเปรียบเทียบกับคนอื่น แล้วก็คิดเอาเองว่าเรามีนมไม่พอ  หากต้องการปั๊มนมให้ได้ปริมาณมากพอสำหรับลูก  ต้องใช้ เครื่องปั๊มนม ให้ถูกวิธี 

ควรใช้เวลาในการปั๊มนานแค่ไหน  
ถ้าปั๊มได้ถูกวิธีและชำนาญแล้ว การปั๊มนมแต่ละข้างอาจจะใช้เวลาเพียง 10 นาทีต่อข้าง หรือพร้อมกันสองข้างหากเป็นแบบปั๊มคู่  แต่โดยทั่วไปสำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มปั๊ม  และยังไม่รู้จักกลไกการหลั่งน้ำนมของตนเอง  ควรจะใช้เวลาในการปั๊มอย่างน้อย 15 นาที ต่อข้าง 

ปั๊มคู่ดีกว่าปั๊มเดี่ยวอย่างไร 
สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำนมน้อย และมีเวลาจำกัดในการปั๊มนมแต่ละครั้ง  การใช้เครื่องปั๊มนมแบบปั๊มคู่ จะช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดีกว่า และช่วยประหยัดเวลาในการปั๊ม  แต่หากคุณแม่ไม่มีปัญหาเรื่องปริมาณน้ำนมและเวลาในการปั๊ม  การใช้ปั๊มเดี่ยวก็เพียงพอ 

เครื่องปั๊มนมช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำนมได้อย่างไร 
โดยปกติแล้ว  วิธีเพิ่มปริมาณน้ำนมที่ดีที่สุดก็คือ การให้ลูกดูดนมแม่อย่างถูกวิธีบ่อยๆ  โดยการดูดของลูกจะต้องเป็นการดูดอย่างมีประสิทธิภาพ  คือ ดูดแล้วต้องได้น้ำนม  ไม่ใช่แค่การอมหัวนมแม่เป็นเวลานานๆ เท่านั้น  ลูกอาจจะดูดนมแม่ทั้งวันๆ ละ 10-12 ครั้ง ครั้งละ 10-20 นาที แต่ถ้าการดูดนั้นผิดวิธี ก็จะไม่ช่วยให้ร่างกายแม่ผลิตน้ำนมได้เพียงพอต่อความต้องการ 
การใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี ซึ่งมีประสิทธิภาพการดูดใกล้เคียงกับทารก  จะช่วยปั๊มน้ำนมออกมาได้มากขึ้น  และยิ่งสามารถปั๊มน้ำนมออกมาได้มากเท่าไหร่  ร่างกายก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้นเท่านั้น  

ทำไมปั๊มนมได้น้อยลง 
เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกว่าหน้าอกเริ่มจะไม่คัดตึง นิ่ม เหลว เหมือนไม่มีน้ำนม เมื่อเวลาผ่านไป 6-12 สัปดาห์หลังคลอด
หลังจากสัปดาห์แรกๆ (6-12 สัปดาห์ หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน) ผ่านพ้นไป คุณแม่จำนวนมากรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมของตน เมื่อสังเกตเห็นว่า นมที่เคยปั๊มได้มีปริมาณลดลง หรือรู้สึกว่าหน้าอกนิ่ม เหลว ไม่คัดตึง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แม้ว่าบางครั้งอาจจะรู้สึกคัดตึงบ้าง ถ้าเว้นช่วงการให้ลูกดูด หรือปั๊มนานกว่าปกติ 
ความรู้สึกว่าหน้าอกคัดตึง เต็มไปด้วยน้ำนม ในช่วงสัปดาห์แรกๆ นั้นไม่ใช่เรื่องปกติ ตลอดช่วงระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแรกที่ร่างกายของแม่ยังไม่สามารถปรับตัวให้รับรู้กับปริมาณความต้องการน้ำนมของลูกได้  
ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยปกติจะอยู่ระหว่าง 6-12 สัปดาห์ (อาจจะนานกว่านี้ สำหรับบางคนที่มีนมเยอะมากๆ)ปริมาณการผลิตน้ำนมจะปรับเข้าที่ จะรู้สึกว่าหน้าอกคัดน้อยลง นิ่มเหลว เหมือนไม่มีน้ำนม ไม่มีการไหลซึม ไม่รู้สึกถึง let-down และถ้าปั๊ม ก็จะได้ปริมาณน้อยลงกว่าเดิม  
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าร่างกายผลิตน้ำนมน้อยลง  แต่เป็นสิ่งที่บอกว่า ร่างกายสามารถรับรู้แล้วว่าปริมาณน้ำนมเท่าใดจึงจะพอดีกับความต้องการ ไม่จำเป็นต้องผลิตให้มากเกินไปอีกต่อไป 
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดก็ได้ แตกต่างกันไปในแต่ละคน  มีคุณแม่จำนวนมากที่ไม่ค่อยรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องปกตินี้  เพราะส่วนใหญ่มักจะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ไม่เคยรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ (หรือบางทีก็เข้าใจผิดๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสัญญาณบอกว่านมกำลังจะแห้ง ทำให้เลิกให้นมแม่ แล้วไปให้นมผสมแทน)  

ขอขอบคุณข้อมูลจาก  http://www.breastfeedingthai.com